บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบเกี่ยวกับสระ ชุดที่ 1

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่ 1. ข้อใดมีคำประสมสระเลื่อน
ก.  บูชาผู้ที่ควรบูชา
ข.  ไม่คบคนพาล
ค.  คบบัณฑิต
ง.  ตั้งตนไว้ชอบ

ข้อที่ 2. ข้อใดประสมสระเสียงสั้นทุกคำ
ก.  ไม่คบคบพาล
ข.  คบบัณฑิต
ค.  บูชาผู้ที่ควรบูชา
ง.  ตั้งตนไว้ชอบ

ข้อที่ 3. สระเอา เป็นสระชนิดใด
ก.  สระแท้
ข.  สระประสม
ค.  สระเกิน
ง.  สระลอย

ข้อที่ 4. ข้อใดมีรูปสระที่ไม่ออกเสียงทุกคำ
ก.  เมรุ ทิฐิ โพธิ์
ข.  พระธาตุ สิริกิตติ สมาธิ
ค.  เกียรติ พยาธิ ธาตุ
ง.  ปฏิบัติ วุฒิ เศรษฐี

ข้อที่ 5. ข้อใดประสมสระแท้ทุกคำ
ก.  สิบสองสิงหาคม
ข.  รวมกันและตริหา
ค.  เทวามนุษย์ทั่ว
ง.  ด้วยกาละล่วงนาน

เฉลย

ข้อที่ 1. ข้อใดมีคำประสมสระเลื่อน
ก.  บูชาผู้ที่ควรบูชา
ข.  ไม่คบคนพาล
ค.  คบบัณฑิต
ง.  ตั้งตนไว้ชอบ

วิเคราะห์
โจทย์ต้องการหาคำที่ใช้สระประสม ซึ่งก็คือ “เมีย เบื่อ ผัว” ของเรา

ที่เรียกว่า “สระเลื่อน” ก็เพราะ สระประสมตั้งต้นด้วยลิ้นสูง แล้วก็ลดลงมาจนถึงลิ้นต่ำ ขอให้ดูรูปประกอบ


 สีแดงคือ สระเอียะ เอีย
สีเขียว คือ เอือะ เอือ
สีน้ำเงินคือ อัวะ อัว

เมื่อไปอ่านตัวเลือก อ้าว........ ไม่เห็นสระประสมสักตัวหนึ่ง  นึกในใจว่า คนออกข้อสอบผิดแน่ๆ แต่พอนึกใหม่อีกที ข้อสอบแบบนี้ ใครจะออกให้ผิด  เราต้องโง่เอง ลองหาใหม่

ข้อสอบแบบนี้ ต้องอ่านให้เร็ว เพราะ ต้องใช้เวลาอ่านทั้งหมด จะไปคัดคำผิดออกที่ละข้อๆ ไม่ได้ผลกับข้อสอบแบบนี้

สรุปแล้ว ข้อ ก. เป็นข้อที่ถูกต้อง เพราะ คำว่า /ควร/ ใช้สระอัว

สระอัวนี้ เมื่อไม่มีตัวสะกดก็เขียนคงรูป เช่น คำว่า “ผัว” แต่เมื่อไหร่มีตัวสะกด จะลดรูปลงไป ดังนั้น ควร ก็คือ /ค/ + /อัว/ + /น/  แต่เขียนด้วย /ร/ แทน

ข้อที่ 2. ข้อใด ประสมสระเสียงสั้นทุกคำ
ก.  ไม่คบคบพาล
ข.  คบบัณฑิต
ค.  บูชาผู้ที่ควรบูชา
ง.  ตั้งตนไว้ชอบ

วิเคราะห์
ถ้าโจทย์ออกแบบนี้ เราก็ต้องหาข้อผิดเสียก่อน  ในเมื่อโจทย์ให้หาคำที่ใช้สระเสียงสั้นทุกคำ เราก็อ่านตัวเลือกคร่าวๆ ข้อไหนมีสระเสียงยาวข้อนั้น ก็ผิดแน่นอน  เช่น

ข้อ ก. คำว่า /พาล/ มีสระอา
ข้อ ค. คำว่า /บู/ มีสระอู
ข้อ ง. คำว่า /ชอบ/ มีสระออ
ดังนั้น ข้อ ข. จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง

ข้อที่ 3. สระเอา เป็นสระชนิดใด
ก.  สระแท้
ข.  สระประสม
ค.  สระเกิน
ง.  สระลอย

วิเคราะห์

ขอให้ดูแผนผังสระของเราด้านบนด้วย  จะเห็นว่า ไม่มีในแผนผัง ดังนั้น ก็ต้องเป็นสระเกิน เพราะ ในแผนผังมีเพียงสระเดี่ยวกับสระผสมเท่านั้น

โปรดจำไว้ด้วยว่า ในกรณีของนักภาษาศาสตร์ไม่ถือว่า “สระเกิน” เป็นสระ  ผมเป็นนักภาษาศาสตร์ก็ยึดตามนั้น

แต่ท่านผู้อ่านเป็นผู้จะเข้าสอบ ก็จะไว้ว่า “สระเกิน” มี  ไม่งั้นสอบตกแน่ๆ

ข้อที่ 4. ข้อใดมีรูปสระที่ไม่ออกเสียงทุกคำ
ก.  เมรุ ทิฐิ โพธิ์
ข.  พระธาตุ สิริกิตติ สมาธิ
ค.  เกียรติ พยาธิ ธาตุ
ง.  ปฏิบัติ วุฒิ เศรษฐี

วิเคราะห์

สระที่ไม่ออกเสียงนั้น ต้องเกิดในคำที่ไม่ใช้คำไทยแท้  

โจทย์ข้อนี้ ต้องใช้เวลาในการอ่านมาก คือ ต้องอ่านให้ครบทุกข้อ จึงจะหาคำตอบได้

ข้อ ค. เป็นข้อที่ถูกต้อง เพราะ /เกียรติ/ กับ /พยาธิ/ สระอิไม่ออกเสียง เพราะ ถือว่าเป็นตัวสะกด  ส่วน /ธาตุ/ นั้น สระอุก็ไม่ออกเสียง เพราะ ถือว่าเป็นตัวสะกดเช่นเดียวกัน

ข้อที่ 5. ข้อใดประสมสระแท้ทุกคำ
ก.  สิบสองสิงหาคม
ข.  รวมกันและตริหา
ค.  เทวามนุษย์ทั่ว
ง.  ด้วยกาละล่วงนาน

วิเคราะห์
คำว่า “สระแท้” นั้นก็คือ สระเดียวนั่นแหละ โปรดดูแผนผังด้านบนประกอบ

ในการทำโจทย์ เราก็ต้องท่อง “เมีย เบื่อ ผัว” หาคำที่มีสระผสม ซึ่งเป็นข้อที่ผิด

ข้อ ข. คำว่า /รวม/ มีสระอัวผสม
ข้อ ค. คำว่า /ทั่ว/ มีสระอัวผสม
ข้อ ง. คำว่า /ด้วย/ มีสระอัวผสม


ดังนั้น ข้อ ก. จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง



1 ความคิดเห็น: