บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

เสียงสระ

คำในภาษาไทยนั้น ประกอบไปด้วยเสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์  เสียงที่เป็นหัวใจของคำก็คือ เสียงสระ เพราะ คำแต่ละคำจะต้องมีเสียงสระอยู่ด้วยเสมอ

เสียงสระดังกล่าว จะต้องมีเสียงวรรณยุกต์รวมอยู่ด้วย จะขาดไม่ได้ เป็นธรรมชาติของภาษาไทย เสียงสระนั้น ถ้าออกเป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ ก็แสดงว่า มีการเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ด้วย

ที่ว่าเป็นธรรมชาติก็คือ ภาษาไทยเลือกเอาเสียงวรรณยุกต์มาจำแนกความหมายของคำด้วย ภาษาอังกฤษ ก็มีเสียงวรรณยุกต์ แต่ภาษาอังกฤษไม่เอามาจำแนกความหมายของคำ เท่านั้น

เสียงสระในภาษาไทย แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1) สระเดี่ยว ได้แก่ สระที่เปล่งเสียงออกมาเป็นเสียงเดียว ไม่มีเสียงอื่นประสมมี 18 ตัว
  ในการท่องจำ ควรท่องจากแถวแรก บน-ล่าง  แถวกลาง บน-ล่าง และแถวหลัง บน-ล่าง ดังนี้

อิ อี เอะ เอ แอะ แอ  อึ  อื เออะ เออ อะ อา อุ อู โอะ โอ เอาะ ออ เป็นการท่องจำตามหลักภาษาศาสตร์

สระอิ อี นั้น ปากจะเหยียด ลิ้นยกขึ้นสูง ท่องลงมา ปากก็จะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ

สระ อุ อู นั้น ปากจะกลม ลิ้นยกขึ้นสูง ท่องลงมา ปากก็จะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากจะท่องจำให้ได้แล้ว ก็ควรจะเขียนแผนผังดังกล่าวให้ได้ด้วย

2) สระประสม คือ สระที่มีเสียงสระเดี่ยว 2 ตัวประสมกัน มี 6 ตัวได้แก่

เอียะ เสียง อิ กับ อะ ประสมกัน
เอีย เสียง อี กับ อา ประสมกัน
เอือะ เสียง อึ กับ อะ ประสมกัน
เอือ เสียง อื กับ อา ประสมกัน
อัวะ เสียง อุ กับ อะ ประสมกัน
อัว เสียง อู กับ อา ประสมกัน
  

จะเห็นว่า ถ้าเราจำแผนผังได้ เราก็จะจำสระได้ทั้งหมด ทั้งสระเดียว และสระผสม

สระผสมนี้ นักภาษาศาสตร์เห็นว่า มีเพียง 3 เสียง คือ เอีย เอือ อัว  ในการจำ อาจารย์บางท่านให้ท่องว่า “เมีย เบื่อ ผัว

แนวคิดของอาจารย์ท่านนั้นก็บรรเจิดจริงๆ ควรนำเอาไปใช้

3) สระเกิน คือ สระที่มีเสียงซ้ำกับสระเดี่ยว ต่างกันก็แต่ว่าสระเกินจะมีเสียงพยัญชนะประสมหรือสะกดอยู่ด้วย มี 8 ตัว ได้แก่

ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ (รึ รือ ลึ ลือ) มีเสียงพยัญชนะ ร ล ประสมอยู่
อำ มีเสียง อะ และพยัญชนะ ม สะกด
ใอ ไอ มีเสียง อะ และพยัญชนะ ย สะกด (คือ อัย)
เอา มีเสียง อะ และพยัญชนะ ว สะกด


สระเกินนี้ ตามหลักภาษาศาสตร์ เราไม่นับเป็นสระ  ดังนั้น สระจึงมี 24 เสียง หรือ 21 เสียง แล้วแต่ว่า เราจะยึดตำราไหนเป็นหลัก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น